คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2561

แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกวางแผนที่จะเข้าไปลักทรัพย์ภายในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่รับมากระทำเป็นส่วน ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายและปล้นเงินของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เพียงขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกที่โรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถไปรอที่ปั๊มน้ำมัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกลักทรัพย์ได้แล้ว พวกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพร้อมทรัพย์ที่ลักมา ซึ่งเป็นการเข้ามาร่วมกระทำผิดด้วยเมื่อมีการตัดสายไฟแล้วขนย้ายเคลื่อนที่อันเป็นการลักทรัพย์สำเร็จเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่อื่นห่างไกลจากสถานที่เกิดเหตุจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามฟ้อง แต่มีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืนโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86 อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและรวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 3,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1

 

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 310, 340, 340 ตรี ริบสายรัดของพลาสติก 2 เส้น และสายยางยืดรัดของ 1 เส้น ของกลาง ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 3,900 บาท นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4157/2559 ของศาลชั้นต้น นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5446/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5447/2559 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2097 ถึง 2098/2560 ของศาลจังหวัดระยอง และนับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4106/2559 ของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก (เดิม), 340 วรรคแรก (เดิม), ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกคนละ 15 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และคำรับสารภาพในชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในสาม ลดโทษให้จำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5446/2559 จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5447/2559 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2097 ถึง 2098/2560 ของศาลจังหวัดระยอง นับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4106/2559 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4157/2559 (ที่ถูก คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2011/2560) ของศาลชั้นต้นนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 3,900 บาท คืนสายรัดของพลาสติก 2 เส้น และสายยางยืดรัดของ 1 เส้น ของกลางแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง นายวิชัย ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทจัมปาก้า จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาความปลอดภัย เดินตรวจความเรียบร้อยภายในโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ของผู้เสียหายที่ 1 แล้วกำลังจะเดินกลับเข้าไปในป้อมยาม ขณะกำลังจะปิดประตูป้อมยาม คนร้ายหลายคนกระแทกประตูถูกศีรษะของผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ล้มลงและได้รับอันตรายแก่กาย แล้วคนร้ายบุกเข้าไปในป้อมยามจับผู้เสียหายที่ 2 กดลงให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นภายในป้อมยาม หลังจากนั้นคนร้ายใช้อาวุธปืนจี้ ใช้สายรัดของพลาสติก 2 เส้น ผูกรัดข้อมือทั้งสองข้างของผู้เสียหายที่ 2 ไว้ด้วยกันโดยไขว้ไว้ทางด้านหลัง และใช้สายยางยืดรัดของ 1 เส้น ผูกรัดข้อเท้าทั้งสองข้างของผู้เสียหายที่ 2 ไว้ด้วยกัน แล้วบังคับให้ผู้เสียหายที่ 2 อยู่เฉย ๆ คนร้ายคนหนึ่งเฝ้าผู้เสียหายที่ 2 ส่วนคนร้ายคนอื่นออกจากป้อมยามไป ระหว่างนั้นมีเสียงโทรศัพท์เรียกเข้าไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนร้ายที่เฝ้าผู้เสียหายที่ 2 คนร้ายรับโทรศัพท์แต่ไม่ได้พูดสนทนา หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที คนร้ายคนดังกล่าวออกไปจากป้อมยาม ผู้เสียหายที่ 2 แก้มัดจนหลุดออกแล้วไปแจ้งแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่หน้าประตูโรงงาน หลังจากนั้นจึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเดินทางไปถึงสถานที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 2 ตรวจสอบพบว่า คนร้ายลักเงิน 3,900 บาทไปจากกระเป๋าเสื้อด้านบนของผู้เสียหายที่ 2 และคนร้ายร่วมกันลักตัดสายเมนไฟฟ้าแรงต่ำ 8 เส้น ราคา 280,000 บาทที่อยู่ภายในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แล้วยังพบแผ่นเมทัลชีทซึ่งเป็นแผ่นรั้วตกอยู่ข้างโรงงาน และขวดพลาสติกน้ำดื่มยี่ห้อออร่า ขนาด 1.5 ลิตร 2 ขวดตกอยู่ที่พงหญ้า พนักงานสอบสวนจึงยึดเป็นของกลาง พันตำรวจโทหญิงณัฐนันท์ นักวิทยาศาสตร์ (สบ 3) กลุ่มงานตรวจลายนิ้วมือแฝง ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 เป็นผู้ตรวจสอบรอยลายนิ้วมือแฝงที่ตรวจเก็บจากแผ่นเมทัลชีทที่ถูกงัดออกจากรั้วด้านซ้ายของโรงงานมีจุดลักษณะสำคัญพิเศษของลายเส้นตรงกับลายนิ้วหัวแม่มือซ้ายและนิ้วชี้ซ้ายของจำเลยที่ 1 แล้วลงความเห็นว่าเป็นลายนิ้วมือของบุคคลคนเดียวกัน ร้อยตำรวจโทหญิงพัชริดา นักวิทยาศาสตร์ (สบ 1) กลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 2 ปฏิบัติราชการกลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เป็นผู้ตรวจดีเอ็นเอที่ก้านสำลีซึ่งเช็ดจากเยื่อกระพุ้งแก้มของจำเลยที่ 3 พบว่าเป็นดีเอ็นเอที่เข้ากันได้กับดีเอ็นเอที่ตรวจพบที่ก้านสำลีซึ่งเช็ดจากบริเวณปากขวดน้ำดื่มยี่ห้อออร่าที่พบอยู่ในแนวพงหญ้าห่างจากกำแพงรั้วทิศตะวันออกของโรงงานประมาณ 35 เมตร พันตำรวจตรีรัฐนันท์ สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภาค 7 และร้อยตำรวจโทสุขสิทธิ์ รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 กับพวกร่วมกันจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้สีดำ หมายเลขทะเบียน บย 6232 ฉะเชิงเทรา และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย สีดำฟ้า ใส่ซิม โทรศัพท์หมายเลข 09 4417 xxxx จากจำเลยที่ 2 เป็นของกลาง ร้อยตำรวจโทวิวัฒน์ รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรบางหลวงกับพวกร่วมกันจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนโดยยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา ส่วนโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 4 เท่านั้น คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสอง แต่โจทก์มีพันตำรวจตรีรัฐนันท์ และร้อยตำรวจโทสุขสิทธิ์ เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองไปตรวจสถานที่เกิดเหตุจึงทราบข้อมูลว่า ขณะที่คนร้ายควบคุมตัวผู้เสียหายที่ 2 ไว้นั้น คนร้ายรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงเวลา 1.30 นาฬิกา ถึง 2 นาฬิกา พยานทั้งสองจึงตรวจสอบการใช้โทรศัพท์จากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่าง ๆ พบว่า มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในเครือข่ายดีแทค ช่วงเวลาดังกล่าวในบริเวณสถานที่เกิดเหตุ โดยวันเกิดเหตุเวลา 1.29 นาฬิกา มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 06 3374 xxxx ในตำบลบ่อกวางทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9341 xxxx ในบริเวณสถานที่เกิดเหตุ เวลาสนทนา 37 วินาที ครั้นเวลา 1.53 นาฬิกา มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9116 xxxx ในบริเวณสถานที่เกิดเหตุติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 4417 xxxx ในบริเวณสถานที่เกิดเหตุ เวลาสนทนา 56 วินาที และเวลา 1.57 นาฬิกา มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 4417 xxxx ในบริเวณสถานที่เกิดเหตุติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9116 xxxx ในบริเวณสถานที่เกิดเหตุ เวลาสนทนา 63 วินาที แล้วยังตรวจสอบพบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 06 3374 xxxx มีชื่อนายเทวินทร์ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9341 xxxx จดทะเบียนในชื่อนายณัฐนนท์ ซึ่งมีภูมิลำเนาที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และเมื่อตรวจสอบต่อไปพบว่า เมื่อวันที่ 2, 9, 15 และ 21 สิงหาคม 2559 มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9341 xxxx ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 1253 xxxx ของนาราศิริ รีสอร์ท ซึ่งอยู่ที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อไปตรวจสอบที่นาราศิริ รีสอร์ท พบว่า พนักงานของรีสอร์ทไม่ได้จดชื่อผู้เข้าพักไว้ แต่จดหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของผู้เข้าพักเป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน บย 6232 ฉะเชิงเทรา และเมื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดของนาราศิริ รีสอร์ทพบว่าเป็นรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีดำ และเมื่อเปรียบเทียบกับภาพจากกล้องวงจรปิดที่ได้จากสถานีตำรวจภูธรบางหลวงซึ่งในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ พบว่าเป็นรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีดำจอดอยู่ที่ปั๊มน้ำมันห่างจากสถานที่เกิดเหตุประมาณ 300 เมตร รถยนต์ทั้งสองคันมีลักษณะคล้ายคลึงกัน รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บย 6232 ฉะเชิงเทรานั้น นางสาวอารีรัตน์ ภริยาของจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อจากบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด และในเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 2 พบว่า จำเลยที่ 2 ถ่ายรูปคู่กับรถยนต์คันดังกล่าว สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 4417 xxxx จดทะเบียนในชื่อนางมะลิวัลย์ มารดาของภริยาจำเลยที่ 2 แต่พบว่ามีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวติดต่อกับภริยาจำเลยที่ 2 ประมาณ 200 ครั้ง และติดต่อกับนางสาวอัญรินทร์ น้องสาวของจำเลยที่ 2 ประมาณ 50 ครั้ง เชื่อว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 4417 xxxx ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9116 xxxx จดทะเบียนในชื่อนางมานี แต่ตรวจสอบจากสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กพบว่า นายจิรวัฒน์ เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าว ต่อมาผลการตรวจรอยลายนิ้วมือแฝงบนแผ่นเมทัลชีทตรงกับลายนิ้วมือของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องเขยของนายจิรวัฒน์และมีประวัติร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 3 คดี เจ้าพนักงานตำรวจจึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2559 พยานทั้งสองกับพวกเดินทางไปที่จังหวัดฉะเชิงเทราเพราะสืบทราบว่า จำเลยที่ 2 ยังคงใช้รถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีดำ หมายเลขทะเบียน บย 6232 ฉะเชิงเทรา เมื่อพบจำเลยที่ 2 จึงแสดงหมายจับแล้วจับกุมจำเลยที่ 2 พร้อมยึดรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีดำ หมายเลขทะเบียน บย 6232 ฉะเชิงเทรา และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย สีดำฟ้า ใส่ซิม โทรศัพท์หมายเลข 09 4417 xxxx จากจำเลยที่ 2 เป็นของกลาง จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์กระบะคันดังกล่าวจำเลยที่ 2 กับพวกใช้เป็นยานพาหนะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองและหลบหนี แล้วยังยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9341 xxxx ติดต่อกับผู้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยา คืนวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกา หญิงชาวลาวโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 ขณะที่อยู่ในป้อมยามควบคุมตัวผู้เสียหายที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 อยู่ที่จังหวัดชลบุรี จึงติดตามไปจับกุมจำเลยที่ 1 และร้อยตำรวจโทสุขสิทธิ์ เบิกความต่อไปว่า ชั้นจับกุม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 นายธีระ และนายจิรวัฒน์แล้วยังให้การถึงเหตุการณ์ที่นายธีระชักชวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปร่วมกันลักสายไฟที่โรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ตั้งแต่การไปดูลาดเลาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 การจะเข้าไปลักทรัพย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 แต่ลักทรัพย์ไม่สำเร็จ จนกระทั่งวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีดำ หมายเลขทะเบียน บย 6232 ฉะเชิงเทรา มีจำเลยที่ 1 นั่งโดยสารไปด้วยพบกับนายธีระกับพวกอีก 3 คนที่ปั๊มน้ำมัน ป.ต.ท. อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปส่งจำเลยที่ 1 และนายธีระกับพวกแล้วขับรถยนต์ไปรออยู่ที่ปั๊มน้ำมัน ป.ต.ท. ต่อมานายธีระโทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และนายธีระกับพวก แล้วแยกย้ายกันกลับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังเขียนบันทึกเล่าเรื่องราวแล้วยังชี้ภาพของกลางไว้ด้วย พยานกับพวกนำข้อมูลทะเบียนราษฎรของจำเลยที่ 3 ที่ 4 นายธีระ และนายจิรวัฒน์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดู จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยืนยันและเขียนข้อความรับรองว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 นายธีระ และนายจิรวัฒน์เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกจิรโชติ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานแจ้งข้อหาจำเลยทั้งสี่ว่า ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ แล้วจำเลยที่ 3 ยังนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เห็นว่า พยานโจทก์ที่เป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงไปตรงมาเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันกันสมเหตุผล ประกอบกับจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีดำ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 2 กำลังขับรถยนต์จะเข้าบ้าน และจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่ามีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 ไปใช้อยู่บริเวณสถานที่เกิดเหตุและในเวลาที่เกิดเหตุได้อย่างไร แล้วจำเลยที่ 2 ยังเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ใช้รถยนต์คันดังกล่าวในการทำงาน ภาพถ่ายรถยนต์กระบะเป็นภาพรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับไปที่นาราศิริ รีสอร์ท และภาพจำเลยที่ 2 ถ่ายรูปคู่รถยนต์คันดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กซึ่งเป็นข้อเท็จจริงแสดงว่าจำเลยที่ 2 ใช้รถยนต์คันดังกล่าวอยู่เป็นประจำ เจือสมคำเบิกความของพยานโจทก์ที่เป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ที่เป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 2 รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน แม้จะเบิกความแตกต่างกันบ้างและแตกต่างจากบันทึกจับกุม ก็เป็นเพียงพลความไม่ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ที่เป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักลดน้อยลงไปหรือไม่น่าเชื่อถือ เชื่อว่า พยานโจทก์ที่เป็นผู้จับกุม จำเลยที่ 2 เบิกความไปตามความเป็นจริงที่ได้รู้เห็นมาโดยปราศจากมูลเหตุจูงใจ อีกทั้งคำเบิกความดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ย่อมใช้ยันจำเลยที่ 2 ได้ และอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ที่เป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 233 วรรคสอง อีกด้วย และแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย ห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุมเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น ดังนั้น คำให้การชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นถ้อยคำรับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิดจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การชั้นสอบสวนซัดทอดจำเลยที่ 2 ในทำนองเดียวกับคำให้การชั้นจับกุม แม้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 เป็นพยานบอกเล่า แต่จำเลยที่ 1 ให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนไว้โดยละเอียดยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะแต่งเรื่องราวเองได้ แม้จะแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงพลความ ไม่ทำให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักลดน้อยลงไปหรือไม่น่าเชื่อถือ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ยังสอดคล้องกับคำรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 3 ที่ซัดทอดจำเลยที่ 2 อีกด้วย แม้คำซัดทอดของจำเลยที่ 3 จะแตกต่างจากคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 อยู่บ้างก็เป็นเพียงพลความ ไม่ทำให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีน้ำหนักลดน้อยลงไปหรือไม่น่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน อีกทั้งคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 ผู้เดียว คงซัดทอดจำเลยที่ 2 แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกแล้วขับรถยนต์ไปรอที่ปั๊มน้ำมัน ป.ต.ท. จนกระทั่งพวกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพร้อมกับบรรทุกทรัพย์ที่ลักมา ซึ่งเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 2 คำซัดทอดดังกล่าวจึงมีเหตุผลน่าเชื่อถือ เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมแล้วน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมทำร้ายร่างกายบังคับให้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้วยังคุมเชิงจำเลยที่ 1 ขณะให้การต่อพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ด้วยนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา แจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม หรือร้องขอความเป็นธรรมจากโจทก์ หรือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบในวันแรกที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลชั้นต้นแต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังเอาเป็นความจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ได้ แล้วยังเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมและพนักงานสอบสวนไปตามความเป็นจริงโดยปราศจากมูลเหตุจูงใจ นอกจากนี้ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ระบุว่า พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 มาตรา 134/3 และมาตรา 134/4 วรรคหนึ่งให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า พนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลยที่ 2 ครั้งแรกที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 โดยมีทนายความ 1 คน แต่ไม่ได้นั่งฟังการสอบสวน และมีเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมนั่งคุมเชิงอยู่ข้าง ๆ เพื่อให้จำเลยที่ 2 รับสารภาพนั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนคัดลอกคำให้การของจำเลยที่ 2 มาจากคำให้การชั้นจับกุม แต่กลับมีรายละเอียดแตกต่างไปจากคำให้การชั้นจับกุมอยู่บ้าง ประกอบกับวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรบางหลวงยอมรับว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 2 นาฬิกา นายธีระ โทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย สีดำฟ้า หมายเลข 09 4714 xxxx (ที่ถูก 09 4417 xxxx) ของจำเลยที่ 2 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับก่อนจะหลบหนีไป และรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีดำ หมายเลขทะเบียน บย 6232 ฉะเชิงเทราเป็นรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกใช้ในการก่อเหตุคดีนี้ โดยไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนสอบปากคำครั้งหลังนี้โดยทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใด ๆ เพื่อจูงใจให้จำเลยที่ 2 ให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา แจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม หรือร้องขอความเป็นธรรมจากโจทก์ หรือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบในวันแรกที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลชั้นต้นแต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังเอาเป็นความจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ได้ แล้วยังเชื่อว่า จำเลยที่ 2 เต็มใจให้การทั้งสองครั้งต่อพนักงานสอบสวนและเป็นคำให้การตามความเป็นจริงโดยปราศจากมูลเหตุจูงใจ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 วรรคท้าย ประกอบกับคำเบิกความของพันตำรวจโทรัฐนันท์และบันทึกข้อความที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 บริเวณสถานที่เกิดเหตุและในช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั้น เป็นพยานหลักฐานอื่นที่มีแหล่ง ที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถือเสมือนเป็นพยานคนกลาง จึงมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคสองอีกด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวก พยานฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ อย่างไรก็ตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกวางแผนที่จะเข้าไปลักทรัพย์ภายในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่รับมากระทำเป็นส่วน ๆ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายและปล้นเงินของผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่าเพียงว่า จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกที่โรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบัวปากท่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม แล้วขับรถยนต์ไปรอที่ปั๊มน้ำมัน ป.ต.ท.ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบัวปากท่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยพันตำรวจตรีรัฐนันท์ เบิกความว่า ปั๊มน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุประมาณ 300 เมตร แต่ร้อยตำรวจโทสุขสิทธิ์ เบิกความว่า ปั๊มน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุ 2 ถึง 3 กิโลเมตร เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกลักทรัพย์ได้แล้วพวกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพร้อมทรัพย์ที่ลักมาซึ่งเป็นการเข้ามาร่วมกระทำความผิดด้วยเมื่อมีการตัดสายไฟแล้วขนย้ายเคลื่อนที่อันเป็นการลักทรัพย์สำเร็จเท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่อื่นห่างไกลจากสถานที่เกิดเหตุจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามฟ้อง แต่มีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืนโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86 อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและรวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 3,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น แม้โจทก์จะมีคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซัดทอดจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า และคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 4 ผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำของตน ยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 4 คำซัดทอดดังกล่าวจึงมีเหตุผลน่าเชื่อถือ เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมแล้วน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ก็ตาม แต่คำให้การชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ที่ซัดทอดจำเลยที่ 4 ระบุว่า จำเลยที่ 4 เป็นคนร้ายที่เฝ้าผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในป้อมยาม ต่อมานายจิรวัฒน์โทรศัพท์บอกให้จำเลยที่ 4 ออกจากป้อมยาม ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของพันตำรวจตรีรัฐนันท์ ที่ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมตัวผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในป้อมยาม โดยปราศจากเหตุผล และจากการสืบสวนของพันตำรวจตรีรัฐนันท์ ทราบว่านายจิรวัฒน์ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9116 xxxx บริเวณสถานที่เกิดเหตุและในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ แต่กลับพบว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 4417 xxxx ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ แล้วเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 4 เป็นของกลางและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขใดและติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 9116 xxxx ที่อ้างว่านายจิรวัฒน์เป็นผู้ใช้บริเวณสถานที่เกิดเหตุและในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ อีกทั้งพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้ผู้เสียหายที่ 2 ชี้ยืนยันหรือฟังเสียงจำเลยที่ 4 แล้วยืนยันว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนร้ายที่เฝ้าผู้เสียหายที่ 2 อีกทั้งจำเลยที่ 3 ให้การชั้นสอบสวนซัดทอดว่า คนร้ายคนที่ 6 เป็นชายที่จำเลยที่ 3 ไม่รู้จัก โดยไม่ได้ให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนซัดทอดจำเลยที่ 4 ประกอบกับจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ซัดทอดจำเลยที่ 4 จึงยังไม่มีเหตุผลอันหนักแน่นและไม่มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีที่จะเชื่อคำซัดทอดดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 4 ดังนั้น โจทก์จะต้องมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ซึ่งหมายถึงพยานหลักฐานอื่นที่รับฟังได้ และมีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากพยานหลักฐานที่ต้องการพยานหลักฐานประกอบนั้น ทั้งจะต้องมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้พยานหลักฐานอื่นที่ไปประกอบมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคสอง สำหรับพันตำรวจตรีรัฐนันท์ และร้อยตำรวจโทสุขสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้จับกุมและซักถามคำให้การจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นจับกุม ร้อยตำรวจเอกจิรโชติ พนักงานสอบสวนเป็นผู้สอบปากคำจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นสอบสวน พยานโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรง แต่พันตำรวจตรีรัฐนันท์ ร้อยตำรวจโทสุขสิทธิ์ และร้อยตำรวจเอกจิรโชติ ได้รับคำบอกเล่าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่พยานหลักฐานอื่นที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากพยานบอกเล่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคสอง ไม่อาจรับฟังคำเบิกความของพันตำรวจตรีรัฐนันท์ ร้อยตำรวจโทสุขสิทธิ์ และร้อยตำรวจเอกจิรโชติ สนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคสอง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 4 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 15 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 335 วรรคสอง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 2

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86 จำคุก 6 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5446/2559 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5447/2559 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2097 ถึง 2098/2560 ของศาลจังหวัดระยอง กับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่